ตรวจเครนต้องตรวจอะไรบ้าง? ทำอย่างไรให้ถูกต้อง และปลอดภัย

การตรวจสอบเครนโดยวิศวกร

การตรวจสอบเครน ถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้เครนต้องทำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และเพื่อให้การใช้เครนเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ซึ่งหากคุณอยากรู้ว่าการตรวจเครนต้องตรวจอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาให้คุณแล้ว

ทำไมต้องตรวจสอบเครน?

เครน เป็นเครื่องมือขนาดใหญ่ มีโครงสร้างซับซ้อน หากมีปัญหาอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินได้มาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าเครนนั้นอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เสมอ เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และความปลอดภัยของคนในบริเวณใกล้เคียง

อีกทั้งการตรวจสอบเครนยังถูกระบุไว้ในกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หมวดที่ 2 ส่วนที่ 1 อีกด้วย จึงไม่สามารถละเลยได้ และต้องดำเนินการตรวจสอบเครนให้ถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมายกำหนด

เครนแบบไหนบ้างที่ต้องตรวจสอบเครน ?

ไม่ว่าจะเป็นเครนแบบไหนก็ล้วนต้องได้รับการตรวจสอบเครนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเครนแบบเคลื่อนที่ หรือเครนแบบอยู่กับที่ โดยเครนทุกตัวที่จะถูกใช้งานจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไม่ว่าจะเป็นเครนเก่า เครนใหม่ หรือใช้ยกของที่มีน้ำหนักเท่าไหร่ก็ตาม

การตรวจเครนต้องตรวจอะไรบ้าง?

ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ได้มีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่านายจ้างต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบ และอุปกรณ์ของปั้นจั่นอย่างครอบคลุม ซึ่งเราสรุปมาให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าการตรวจสอบเครนต้องตรวจอะไรบ้าง ดังนี้

  1. ตรวจสอบและควบคุมให้มีลวดสลิงเหลืออยู่ในม้วนลวดสลิงไม่น้อยกว่าสองรอบตลอดเวลาที่ปั้นจั่นทำงาน
  2. ตรวจสอบให้มีชุดล็อกป้องกันลวดสลิงหลุดจากตะขอของปั้นจั่นและทำการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
  3. ตรวจสอบให้มีที่ครอบปิดหรือกั้นส่วนที่หมุนรอบตัวเอง ส่วนที่เคลื่อนไหวได้ หรือส่วนที่อาจเป็นอันตรายของปั้นจั่น และให้ส่วนที่เคลื่อนที่ของปั้นจั่นหรือส่วนที่หมุนได้ของปั้นจั่นอยู่ห่างจากสิ่งก่อสร้าง หรือวัตถุอื่นในระยะที่ปลอดภัย
  4. ตรวจสอบให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัย และสายช่วยชีวิตตลอดเวลาที่ทำงานบนแขนปั้นจั่น หรือชุดสะพาน
  5. ตรวจสอบให้มีพื้นกันลื่น ราวกันตก และแผงกันตกระดับพื้นสำหรับปั้นจั่นชนิดที่ต้องมีการจัดทำพื้น และทางเดิน
  6. ตรวจสอบให้มีเครื่องดับเพลิงที่เหมาะสมและพร้อมใช้งานไว้ที่ห้องบังคับปั้นจั่น หรือตำแหน่งที่สามารถใช้งานได้สะดวก
  7. ตรวจสอบการติดตั้งปั้นจั่นบนฐานที่มั่นคงโดยมีวิศวกรเป็นผู้รับรอง
  8. ตรวจสอบการติดตั้งชุดควบคุมการทำงานเมื่อยกวัสดุขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุด (Upper Limit Switch ) ที่ใช้งานได้ตามปกติ
  9. ตรวจสอบชุดควบคุมพิกัดน้ำหนักยก (Overload Limit Switch) ที่ใช้งานได้ตามปกติ
  10. ตรวจสอบสัญญาณเสียงและแสงไฟเตือนภัยตลอดเวลาที่ปั้นจั่นทำงาน โดยติดตั้งไว้ให้เห็นและได้ยินชัดเจน
  11. ตรวจสอบป้ายบอกพิกัดน้ำหนักยกไว้ที่ปั้นจั่น และรอกของตะขอ พร้อมทั้งติดตั้งป้ายเตือนให้ระวังอันตรายที่ลูกจ้างเห็นได้ชัดเจน
  12. ตรวจสอบคู่มือการทำงานกับปั้นจั่นเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

รายละเอียดเพิ่มเติมและข้อกำหนดอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้งานและตรวจสอบเครน สามารถอ่านได้ในกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564
(อ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://www.labour.go.th/index.php/59597-2564-31)

การตรวจเครนต้องตรวจอะไรบ้าง

ความถี่ในการตรวจเครน : ตรวจสอบเครนบ่อยแค่ไหน ?

ความถี่ของการตรวจเครน จะขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานเครน และน้ำหนักที่ยก โดยแบ่งเป็น 4 กรณีดังนี้

1. เครนที่ใช้ในงานก่อสร้างพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด

  • หากรับน้ำหนักมากกว่า 3 ตันต้องตรวจทุก 3 เดือน
  • หากรับน้ำหนักไม่เกิน 3 ตัน ให้ตรวจสอบทุก 6 เดือน

2. เครนที่ใช้ในงานอื่น ๆ พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด

  • หากรับน้ำหนักตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ตัน ให้ทดสอบทุก 1 ปี
  • หากรับน้ำหนักมากกว่า 3 ตันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 ตัน ให้ทดสอบทุก 6 เดือน
  • หากรับน้ำหนักมากกว่า 50 ตัน ให้ทดสอบทุก 3 เดือน

3. เครนที่ไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด

  • เครนที่ไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด จำเป็นต้องให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดพิกัดยกเสียก่อน แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเครน

4. เครนที่หยุดการใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หรือได้รับการซ่อมแซมที่มีผลต่อความปลอดภัย

  • เครนที่หยุดการใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หรือได้รับการซ่อมแซมที่มีผลต่อความปลอดภัยต้องได้รับการทดสอบใหม่ก่อนเริ่มใช้งานอีกครั้ง

น้ำหนักที่ใช้ในการทดสอบเครน

ในการทดสอบการรับน้ำหนักของเครน น้ำหนักที่ใช้ทดสอบจะขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานของเครน โดยที่

  • ปั้นจั่น หรือเครนใหม่
    • เครนใหม่ที่มีขนาดไม่เกิน 20 ตัน ต้องใช้น้ำหนักในการทดสอบที่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 1.25 เท่าของเครน
    • เครนใหม่ที่มีขนาดมากกว่า 20 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ต้องใช้น้ำหนักในการทดสอบเพิ่มอีก 5 ตันจากพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด
  • ปั้นจั่น หรือเครนที่เคยใช้งานแล้ว
    • เครนที่เคยใช้งานแล้ว ใช้น้ำหนักในการทดสอบที่ 1.25 เท่าของน้ำหนักที่ใช้งานจริงสูงสุด โดยไม่เกินพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด
    • สำหรับเครนที่ไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด จำเป็นต้องให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดพิกัดยกในการทดสอบ

เพื่อการใช้ปั้นจั่นที่ถูกต้อง ปลอดภัย เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เลือกใช้บริการรับตรวจเครนจาก Crane Professional มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการเกี่ยวกับเครนอย่างครบวงจร และช่วยให้คุณสามารถใช้งานเครนได้อย่างปลอดภัย และทำให้การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของคุณลุล่วงได้อย่างไร้ปัญหา หากสนใจบริการรับตรวจรถเครนสามารถติดต่อสอบถามโทร : 089-870-9778 (คุณเจนจิรา) หรือทางอีเมล janejira.c@craneprofessional.in.th