‘ปั้นจั่น’ เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้างทุกรูปแบบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะใช้ในการตอกเสาเข็มขนาดใหญ่เพื่อเป็นโครงสร้างสำหรับสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ปั้นจั่นยังเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สามารถช่วยเพิ่มความสะดวกในการขนส่งและขนย้ายสินค้าประเภทต่าง ๆ ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การใช้งานปั้นจั่นให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยไม่ได้อาศัยแค่ประสบการณ์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้ใช้งานทุกคนยังต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อกฎหมายของการใช้งานปั้นจั่นเช่นกัน
สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่าปั้นจั่นตามกฎหมายมีกี่ชนิด ไม่แน่ใจว่าควรจะเลือกใช้งานปั้นจั่นอย่างไรให้ปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กัน
ปั้นจั่นคืออะไร?
ตามนิยามทางกฎหมายแล้ว ‘ปั้นจั่น’ คือ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่ง ทั้งยังสามารถใช้แขวนและเคลื่อนย้ายสิ่งของให้ลอยไปตามแนวราบได้ โดยปั้นจั่นจะทำการยกและแขวนสิ่งของผ่านสลิงที่เชื่อมต่อกับเหล็กถักจากตัวปั้นจั่นอีกที
ด้วยเหตุนี้ ไม่เพียงแต่จะใช้ขนย้ายและขนส่งสิ่งของได้เท่านั้น แต่ปั้นจั่นยังสามารถปรับใช้ได้กับงานก่อสร้างหลากหลายแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างขึ้นไปยังพื้นที่สูง ตลอดจนการใช้ปั้นจั่นในการตอกเสาเข็มเพื่อวางโครงสร้างสำหรับสิ่งปลูกสร้าง
ถาม: ‘ปั้นจั่น’ กับ ‘เครน’ แตกต่างกันอย่างไร?
ตอบ: ปั้นจั่นและเครนเป็นเครื่องจักรประเภทเดียวกัน โดย ‘ปั้นจั่น’ สามารถเรียกว่า ‘เครน’ ได้เช่นกัน
ส่วนประกอบของปั้นจั่น
เพื่อการใช้งานปั้นจั่นที่ถูกต้องและปลอดภัย นอกจากจะต้องเข้าใจว่าปั้นจั่นตามกฎหมายมีกี่ชนิดแล้ว ผู้ใช้งานยังควรเข้าใจส่วนประกอบและหลักการทำงานเบื้องต้นของปั้นจั่นเช่นกัน ตามหลักแล้ว ปั้นจั่นจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ดังนี้
- ส่วนประกอบแนวตั้ง หรือเสาตั้งที่ทำมาจากเหล็ก มีหน้าที่ยกและลำเลียงสิ่งของขึ้นไปในแนวตั้ง
- ส่วนประกอบแนวนอน หรือส่วนที่ใช้ในการแขวนสิ่งของ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 6 ชิ้นส่วนหลัก ดังนี้
-
- ขายันพื้น ถือเป็นโครงสร้างหลักของปั้นจั่น ช่วยให้ขนส่งสินค้าได้มั่นคง ไม่โคลงเคลง
- น้ำหนักถ่วง ช่วยให้ปั้นจั่นตั้งหลักได้สมดุลยิ่งขึ้น
- แขนบูม เป็นแขนโลหะที่ยืด-หดได้ด้วยระบบไฮดรอลิกที่ต้องมีความแข็งแรงและสมดุลมาก เนื่องจากมีหน้าที่ในการยืด-หดไปยกสิ่งของตามจุดต่าง ๆ หากตัวระบบไม่มีความแข็งแรงและสมดุลอาจทำให้ปั้นจั่นล้ม หรือคว่ำได้
- ลวดสลิง ลวดเกลียวเหล็กที่ทำหน้าที่แขวนและรับน้ำหนักสิ่งของ
- กว้าน ระบบรอกชุด ทำหน้าที่ควบคุมและผ่อนแรงลวดสลิง
- ตะขอ ตัวเกี่ยวที่ช่วยยกสิ่งของขึ้นมา
ปั้นจั่นมีกี่ประเภท?
เมื่อทำความรู้จักส่วนประกอบต่าง ๆ ของปั้นจั่น เพื่อเป็นพื้นฐานในการใช้งานและดูแลรักษาปั้นจั่นแล้ว ทีนี้ลองมาทำความเข้าใจกันต่อเลยว่า ปั้นจั่นตามกฎหมายมีกี่ชนิดกันแน่ โดยตามนิยามทางกฎหมายแล้ว ปั้นจั่นเป็นเครื่องจักรที่มีด้วยกันทั้งหมด 2 ประเภท คือ
- ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ (ปจ. 1)
ตามนิยามระบุว่า ‘ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่’ คือ ปั้นจั่นที่มีอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องสำหรับส่งกำลัง หรือเครื่องต้นกำลังอยู่ภายในตัว โดยปั้นจั่นจะมีการติดตั้งอยู่บนขาตั้ง หอสูง หรือบนล้อเลื่อน เช่น โอเวอร์เฮดเครน รอกยกสิ่งของ ลิฟต์ขนส่ง รอกยกสิ่งของ รอกโยก รอกโซ่ไฟฟ้า เป็นต้น
- ปั้นจั่นชนิดแบบเคลื่อน (ปจ. 2)
‘ปั้นจั่นชนิดแบบเคลื่อน’ เป็นปั้นจั่นแบบเดียวกับปั้นจั่นแบบอยู่กับที่ แต่จะมีความแตกต่างตรงที่การติดตั้ง โดยปั้นจั่นชนิดแบบเคลื่อนที่จะมีการติดตั้งอยู่บนยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้ เช่น รถเครน รถเฮี๊ยบ และเรือเครน เป็นต้น
ความรู้ด้านการทดสอบการรับน้ำหนักของปั้นจั่นเบื้องต้น
เนื่องจากเป็นเครื่องจักรที่ต้องยกสิ่งของที่มีน้ำหนักอย่างต่อเนื่อง การทดสอบการรับน้ำหนักของปั้นจั่นจึงเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ต้องตรวจสอบให้ดี ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งานที่อาจส่งผลต่อชีวิตของพนักงานและต้นทุนในการดำเนินการ
การทดสอบการรับน้ำหนักนี้จะต้องทำการทดสอบโดยวิศวกรเครื่องกลที่มีใบ กว. และอยู่ในระดับภาคีขึ้นไป หรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการอนุญาตจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตามมาตรา 11 โดยการทดสอบการรับน้ำหนักสามารถแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
- การทดสอบสำหรับปั้นจั่นใหม่
-
- ขนาดไม่เกิน 20 ตัน ทดสอบการรับน้ำหนัก 1-1.25 เท่า
- ขนาด 20-50 ตัน ทดสอบการรับน้ำหนักเพิ่ม 5 ตันจากพิกัดการยกอย่างปลอดภัย
- การทดสอบสำหรับปั้นจั่นที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว
-
- ทดสอบการรับน้ำหนัก 1.25 เท่าของน้ำหนักที่ใช้งานจริงสูงสุด แต่ไม่เกิดพิกัดการยกอย่างปลอดภัย หากไม่มีพิกัดการยกอย่างปลอดภัย ให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดตามมาตรฐานก่อนทำการทดสอบ
การใช้งานปั้นจั่นอย่างถูกต้องและปลอดภัยเบื้องต้น
- ทุกคนที่อยู่ในไซต์งาน หรือบริเวณการทำงานของปั้นจั่น จะต้องมีความรู้และความเข้าใจในการทำงานของปั้นจั่น ตลอดจนกฎที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย สัญญาณมือ ทั้งยังต้องสวมชุดปฏิบัติงานและอุปกรณ์นิรภัยอย่างรัดกุม
- ตรวจสอบและปิดสวิตช์การทำงานส่วนต่าง ๆ ของปั้นจั่นทั้งหมดก่อนเปิดสวิตช์ควบคุมใหญ่ ทั้งยังควรตรวจสอบการใช้งานปุ่มฉุกเฉินอยู่เป็นประจำ
- ทดสอบปั้นจั่นด้วยการยกของจำนวนน้อย เพื่อตรวจสอบการรับน้ำหนัก ความสมดุล และการใช้งานอื่น ๆ
- ใช้งานอย่างถูกต้อง เช่น ห้ามถ่วงปั้นจั่นเกินกว่ากฎหมายกำหนด ห้ามใช้เพื่อการโดยสาร ห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ปั้นจั่น หรือหากมีลมแรงจนทำให้สลิง หรือแขนบูมแกว่งต้องหยุดการใช้งานทันที เป็นต้น
- เมื่อหยุดใช้งาน ห้ามแขวนสิ่งของเอาไว้กับปั้นจั่น เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เกิดอันตรายได้
- หากเกิดความเสียหาย ห้ามซ่อมแซมปั้นจั่นด้วยตัวเอง ให้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง
- ตรวจสอบและบำรุงปั้นจั่นตามที่กฎหมายกำหนดเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีการเสียดสีและรับน้ำหนักเป็นประจำ
เพียงเท่านี้ ทุกคนก็ได้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ปั้นจั่นตามกฎหมายมีกี่ชนิด ตลอดจนเข้าใจการใช้งานปั้นจั่นที่ถูกต้องเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ดี ตามกฎกระทรวงการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นปีพ.ศ. 2564 ระบุว่า
“นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ หรือผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่นผ่านการอบรมเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการทำงานที่ปลอดภัยในการทำงานของปั้นจั่น การป้องกันอันตรายจากปั้นจั่น รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างอุปกรณ์การตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ของปั้นจั่น รวมทั้งการฝึกอบรมทบทวนการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นแต่ละประเภท โดยวิทยากรซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นแต่ละประเภท ตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด”
ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมความปลอดภัยให้กับการใช้งาน ทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวง ขอแนะนำให้นายจ้างและผู้ใช้งานปั้นจั่นทุกคนเข้ารับการฝึกอบรมการใช้ปั้นจั่นที่ถูกต้อง Crane Professional มาพร้อมกับบริการงานฝึกอบรมปั้นจั่นที่ถูกต้องตามกฎกระทรวงโดยวิทยากรที่เป็นวิศวกรเครื่องกล ระดับสามัญวิศวกร ผู้มีประสบการณ์การทำงานกับปั้นจั่นมากกว่า 10 ปี เรียนสนุก เน้นปฏิบัติจริง เข้าใจง่าย พร้อมใช้งานปั้นจั่นได้มีประสิทธิภาพสูงสุด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณเจนจิรา โทร. 089-870-9778